IC license

ทำความรู้จัก ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน IC License คืออะไร?

ใบอนุญาต IC License (Investment Consultant) คืออะไร สำคัญยังไง ทำไมต้องมี ทำไมต้องสอบ ?

และทั้งหมดที่ต้องสอบหลาย ๆ Paper เนี่ย ใช้ทำอะไรได้บ้าง ? เรามารู้จัก IC License ไปพร้อมกันกับ The Richest Duck กันดีกว่า..

ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน IC License ผู้ที่มีใบอนุญาตสำหรับแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน เป็น ใบอนุญาตที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. มอบให้ และจะต้องได้รับความเห็นชอบเป็น IC จาก ก.ล.ต. ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่จากต้นสังกัดที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ เรียกได้ว่าเป็นใบเบิกทางสำหรับอาชีพทางการเงินเลยก็ว่าได้ ผู้แนะนำจะต้องมีความรู้และการแนะนำที่ถูกต้อง ความน่าเชื่อถือและความไว้ใจในการใช้บริการ
จึงต้องมีการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถในการแนะนำการลงทุนหรือ IC license เพื่อชี้วัดถึงคุณสมบัติของการเป็นผู้แนะนำการลงทุน
ในมุมของใบอนุญาต IC License และการประกอบอาชีพต่าง ๆ ตัวใบอนุญาต IC License นี้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้อย่างหลากหลาย อย่างเช่น ผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการแนะนำการลงทุน เช่น มาร์เก็ตติ้งหุ้น ผู้ที่เสนอขายหน่วยลงทุนกองทุนรวม พันธบัตร หรือ หุ้นกู้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของพนักงานธนาคาร หรือตัวแทนอิสระ รวมไปถึงตัวแทนประกันชีวิตที่นำเสนอประกันควบกับการลงทุนก็ล้วนนำไปใช้ได้ทั้งหมด
การสอบ IC Licence จึงเป็นที่นิยมมาก มีศูนย์สอบที่หลากหลาย และมีจำนวนผู้สอบที่ค่อนข้างเยอะอยู่เสมอ  ทั้งนี้ทั้งนั้น IC License ก็มีใบอนุญาตและการแนะนำที่ต่างกันไปถึง 4 ประเภท ให้ผู้สอบได้เลือกสอบตามความต้องการนำไปใช้

ประเภทผู้แนะนำการลงทุน

IC license ที่แบ่งผู้แนะนำการลงทุนออกเป็น 4 ประเภท คือ
  • ประเภทที่ 1 IC Plain ผู้แนะนำการลงทุนตราสารทั่วไป แนะนำผลิตภัณฑ์ ตราสารทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อน
  • ประเภทที่ 2 IC Complex 3 ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 3 แนะนำผลิตภัณฑ์ตราสารทั่วไปไม่ซับซ้อน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตราสารซับซ้อนหรือความเสี่ยงสูง
  • ประเภทที่ 3 IC Complex 2 ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 แนะนำผลิตภัณฑ์ตราสารทั่วไปไม่ซับซ้อน ตราสารหนี้และกองทุนรวมที่มีความซับซ้อนหรือความเสี่ยงสูง
  • ประเภทที่ 4 IC Complex 1 ผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 แนะนำผลิตภัณฑ์ตราสารทั่วไปไม่ซับซ้อน และตราสารซับซ้อนความเสี่ยงสูง สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตราสารหนี้และกองทุนรวม
ประเภทนักลงทุนต่างกัน หลักสูตรในการสอบก็ต่างกันไปด้วย การสอบมีด้วยกัน 3 Paper คือ
  • P1  ผลิตภัณฑ์ที่ ไม่มีความซับซ้อน
  • P2 ตราสารหนี้และกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน
  • P3 สัญญาซื้อขายล่วงหน้า
IC license ในประเภทที่ต่างกันก็จะมีการสอบที่ต่างกันด้วย การจะได้ IC license ที่เราต้องการจะสอบ ต้องเลือกสอบให้ตรงกับที่เราจะนำ License ไปใช้แนะนำผลิตภัณฑ์นั้น ๆ
หลักสูตรที่ต้องสอบใน 4 ประเภทผู้แนะนำการลงทุนจะมีดังนี้
  • IC plain ต้องส้อบผ่านหลักสูตร P1
  • IC complex 3 ต้องสอบผ่าน  P1 และ P3
  • IC complex 2 ต้องสอบผ่าน  P1 และ P2
  • IC complex 1 ต้องสอบผ่าน  P1, P2  และ P3
สอบ IC Complex 1  จะครอบคลุมที่สุด สามารถเป็นผู้แนะนำได้ทุกประเภท

ประเภทผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ไม่มีความซับซ้อน / Plain Product

ประเภทผู้แนะนำผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน / Complex Product

ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วจะเป็นว่า ทุก License ที่ต้องสอบ จะต้องสอบหลักสูตร P1 ทั้งหมด ซึ่งหลักสูตร P1 เนื้อหาจะค่อนข้างเยอะ เพราะนำมาจากหนังสือ 3 เล่มด้วยกัน ซึ่งส่วนนี้อาจจะต้องเตรียมตัวมากหน่อยสำหรับการสอบ เพราะการสอบนี้จะมี 2 ส่วนการให้คะแนนในส่วนที่ต้องทำให้ได้เยอะหน่อย คือส่วนของ จรรยาบรรณ 20 ข้อ ที่บังคับผ่านที่ 70% เท่ากับว่าเราจะต้องทำข้อสอบในส่วนจรรยาบรรณให้ผ่าน 14 ข้อเป็นอย่างต่ำ เพราะต่อให้ทำคะแนนได้แต็มในพาร์ทเนื้อหาอื่น ๆ แต่ไม่ผ่านจรรยาบรรณ จะถือว่าสอบตกทันที ซึ่งส่วนนี้ถือว่าสำคัญมาก ๆ ซึ่ง หลักสูตรที่ต้องตั้งใจอ่านและใช้เวลาที่สุด คือ หลักสูตร P1
แชร์เคล็ดลับในการสอบ IC License ฉบับ TRD
The Richest Duck ขอแชร์เคล็ดลับเพิ่มเติมกับทุกคนก่อนเลยว่า หากตั้งใจจะสอบใบอนุญาตเป็น IC Complex 1 อยู่แล้ว และต้องสอบทุกหลักสูตร ให้เลือกสอบ P2 กับ P3 ก่อน จะได้เห็นแนวข้อสอบต่าง ๆ ในส่วนนี้ก่อนนี้ แล้วก็โอกาสผ่านค่อนข้างจะง่ายกว่า P1 ผ่าน P2 P3 มาก่อนจะได้มุ่งมั่นไปที่ P1 ตัวเดียว ดีกว่าเลือกสอบ P1 แล้วไม่ผ่าน เราจะวนอยู่ที่ P1 ทั้งๆที่จริง ๆ ชุดอื่นอาจจะง่ายกว่า ให้เริ่มจากจุดที่ผ่านง่ายกว่าก่อนจะได้เป็นกำลังใจให้ผ่านส่วนอื่น ๆ ด้วย แล้วมาโฟกัสในส่วนที่ยากขึ้นทีหลัง 
  • ภาพแสดงรายละเอียดการสอบ หลักสูตร P1 ค่าธรรมเนียม หนังสือ สัดส่วนเรื่องในการสอบและการให้คะแนน
  • ภาพรายละเอียดการสอบหลักสตูร P2 และ P3 ค่าธรรมเนียม หนังสือ สัดส่วนเรื่องในการสอบและการให้คะแนน
ข้อแนะนำในการอ่านสอบแบบไม่ต้องติว
ในทุกหลักสูตรการสอบ IC License ทั้งหมด มีเนื้อหาในหนังสือ ซึ่งเราสามารถเลือกอ่านเองได้ ทริคที่สำคัญที่แบ่งปันโดยคุณกั๊ก TRD ของเราเนี่ย คือการทดลองทำข้อสอบก่อนอ่าน 1 ครั้ง เพื่อให้เห็นแนวข้อสอบต่าง ๆ (มีข้อสอบเก่าให้ดาวน์โหลด สามารถโหลดมาทดลองทำได้เลย) หลังจากทดลองทำข้อสอบก่อนอ่านเพื้อหาเนี่ย ตรวจข้อสอบและรีเช็คคะแนนเพื่อทำความเข้าใจว่าพื้นฐานเดิมเราทำได้แค่ไหน และควรอ่าานส่วนไหนเพิ่มเติมอีก จดในหัวข้อ คำถามที่สงสัยและหลังจากนั้นเริ่มอ่านหนังสืออย่างจริงจังและทำความเข้าใจ
หลังจากอ่านหนังสือจบ ทดลองทำข้อสอบอีกครั้ง และดูคะแนนที่ได้ หากยังไม่เข้าใจก็ทบทวนข้อนั้นซ้ำ ๆ ทำแบบนี้จำเข้าใจรับรองผ่านได้แบบไม่ต้องติว แล้วก็น่าจะช่วยลดระยะเวลาการอ่านได้เยอะด้วย 

การขึ้นทะเบียนใบอนุญาต IC License และการขอต่อใบอนุญาต IC License

หลังจากสอบผ่านแล้วเราก็สามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาต IC License ประเภทต่าง ๆได้เลย โดยสามารถยื่นเอกสารขอเป็นผู้แนะนำการลงทุน (ขอความเห็นชอบและพิจารณาคุณสมบัติ) ได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
  • กรอกแบบคำขอที่ สำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th (กรอกข้อมูลผ่านระบบ ORAP)
  • ยื่นแบบคำขอ เอกสารประกอบ และชำระค่าธรรมเนียม 2,140 บาท (รวม VAT)
  • รอสำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาความเห็นชอบ (ภายใน 5-7 วันทำการ)
  • ประกาศผลสอบ โดยสำนักงาน ก.ล.ต. จะแจ้งผลผ่านทาง website หากผ่านการพิจารณาจะมีผลแจ้งบนเว็บทันที
ใบอนุญาต มีอายุ 2 ปี ให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบ และให้นับระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ของปีถัดไป เช่น ได้รับความเห็นชอบ วันที่ 1 พ.ค. 2565 อายุสิ้นสุดถึง 31 ธ.ค. 2567 
ในส่วนของการต่ออายุ การต่ออายุใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน ใบอนุญาต IC License แต่ละประเภทนั้น มีอายุการให้ความเห็นชอบ 2 ปี ผู้แนะนำการลงทุนต้องดำเนินการดังต่อไปนี้เพื่อต่ออายุใบอนุญาต
เข้ารับการอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรม หรือศึกษาเพิ่มเติม (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เพื่อต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งถือเป็นการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ 2 ปี ดังนี้
การเข้ารับการอบรม 15 ชม.
  • ความรู้ที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ จรรยาบรรณ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3 ชม.
  • เนื้อหาความรู้ด้านหลักทรัพย์ / ด้านอนุพันธ์ จำนวน 12 ชม.
  • (เฉพาะผู้แนะนำสัญญาฯ ต้องอบรมความรู้ด้านสัญญาฯ 6 ชม.)
  • เป็นวิทยากร / อาจารย์ในหลักสูตรที่ สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบ 15 ชม.
  • สอบผ่าน CISA หรือ CFA ที่ระดับสูง
การยื่นขอต่อออายุใบอนุญาต
  • กรอกแบบคำขอต่ออายุฯ ที่ สำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th (กรอกข้อมูลผ่านระบบ ORAP)
  • พิมพ์แบบคำขอ และ ใบแจ้งค่าธรรมเนียม
  • ชำระค่าธรรมเนียมคำขอต่ออายุ 1,070 บาท (รวม VAT)
ทั้งนี้ ระบบการต่ออายุใบอนุญาต สำนักงาน ก.ล.ต. จะเปิดให้กรอกข้อมูลได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. – 15 ธ.ค. ของทุกปี 
บทความทั้งหมดนี้ ก็ถือว่า จบขั้นตอนของ IC License กันไปคร่าว ๆ แล้ว ทั้งหมดนี้ก็หวังว่าจะให้ความเข้าใจกับผู้ที่สนใจสอบได้ประมาณนึง และน่าจะเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพหรือศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น เพราะใบอนุญาตนี้สามารถนำไปประกอบอาชีพอย่างผู้แนะนำผลิตภัณฑ์อิสระ และผู้แนะนำผลิตภัณณ์ในสถาบันการเงินการลงทุนต่าง ๆ มากมาย เป็นจุดเริ่มต้นแรกของอาชีพทางการเงินที่ควรต้องมี เพราะสามารถต่อยอดจากใบอนุญาต เพื่อเติบโตไปยังคุณวุฒิที่สูงกว่าได้
สำหรับบทความ IC License หวังว่าจะเป็นประโยชน์และให้ความรู้เพิ่มเติมสำหรับคนที่กำลังสนใจนะคะ ถ้าใครอยากไปต่อที่ IP License หรือ คุณวุฒิ CFP ต่อจากนี้อีก พบกับพวกเรา The Richest Duck ในบทความถัดไปได้เลย
ขอบคุณที่ติดตาม

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Scroll to Top