แชร์ประสบการณ์ ย้ายหุ้นข้ามโบรก ง่ายกว่าที่คิด

เลือกอ่านตามหัวข้อ
    Add a header to begin generating the table of contents

    เกริ่นนำ

    การที่นักลงทุนมีหุ้นหลากหลายย่อมเพิ่มโอากาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นแต่มีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน ถ้าไม่ได้มีการแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนหรือบริหารพอร์ตให้ดีก็อาจทำให้ควบคุมยากและเกิดปัญหาขึ้นได้
    สำหรับใครที่มีคำถามที่ว่า “มีพอร์ตอยู่แล้วที่นึง แต่อยากย้ายหุ้นไปอีกโบรกเกอร์นึงทำได้หรือไม่?” “ย้ายหุ้นข้ามโบรก ราคาต้นทุนจะเป็นราคาปัจจุบันหรือไม่?” คำตอบคือสามารถทำได้และราคาหุ้นยังเท่าเดิมด้วยครับ วันนี้เลยเป็นโอกาสดีที่ TRD จะมาแชร์ประสบการณ์การโอนหุ้นข้ามพอร์ต เผื่อเพื่อน ๆ นักลงทุนท่านไหนที่มีพอร์ตหุ้นอยู่แล้วและต้องการย้ายหุ้นบางส่วนไปอีกโบรกนะครับ

    3 เหตุผลที่ TRD ต้องแยกพอร์ตหุ้น

    1. ต้องการแยกหุ้นตามวัตถุประสงค์ กระจายความเสี่ยงในการลงทุนหุ้น โดยผมจะแยกหุ้นเป็น 2 พอร์ต สำหรับลงทุนในหุ้นที่ให้ปันผลในระยะยาว เน้นหุ้นคุณค่า ส่วนอีกพอร์ตจัดลงทุนหุ้นในระยะสั้น ๆ 
    1. ต้องการแบ่งเงินลงทุนชัดเจน วางแผนการเงินสำหรับใช้ลงทุนได้ชัดเจนว่าส่วนไหน ใช้ทำอะไร ลงทุนไปเท่าไหร่ ทำให้ผมคำนวนได้ง่ายขึ้น
    1. ติดตามพอร์ตได้ง่ายขึ้น การที่แยกพอร์ตหุ้นตามวัตถุประสงค์อย่างชัดชัดเจน เปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่าง 2 พอร์ต ทำให้ควบคุมง่าย ลดความสับสน สามารถเห็น Performance ของพอร์ตที่ผมจัดได้ชัดเจน
    ส่วนต่อจากนี้จะพูดถึงประสบการณ์ตอนไปทำเรื่องย้ายหุ้นข้ามโบรก รวมถึงขั้นตอนและค่าใช้จ่ายทั้งหมดนะครับ 

    การทำเรื่องย้ายหุ้นข้ามโบรก

    จริง ๆ วิธีที่ง่ายที่สุดกว่าการย้ายหุ้นข้ามโบรก คือ การขายหุ้นแล้วไปซื้อในโบรกใหม่ วิธีนี้ง่ายสามารถทำได้เลยแต่ก็มีค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขายจะขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นในการเทรด ยิ่งมีการซื้อขายจำนวนหุ้นมากค่าธรรมเนียมก็จะมากตามไปด้วย สำหรับวิธีนี้จะง่ายและประหยัดเวลาจริง แต่สำหรับคนมีหุ้นเยอะก็จะเสียค่าธรรมเนียมเยอะมากเช่นกัน ดังนั้นผมจึงขอแนะนำให้ย้ายหุ้นข้ามโบรกไปเลยครับ 
    หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าต้องยุ่งยากต้องเตรียมเอกสารเยอะแยะไปหมด แต่จริง ๆ แล้ว ไม่เลย สิ่งที่ต้องใช้ คือ บัตรประชาชนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ก็สามารถย้ายหุ้นได้แล้ว ใช้เวลาประมาณ 2-5 วันทำการ โดยต้องไปทำเรื่องที่ศูนย์สาขา ไม่จำเป็นต้องไปสาขาที่เปิดพอร์ต  ในครั้งนี้ TRD ได้ทำการย้ายหุ้นจาก กสิกร ไป หยวนต้า สำหรับการย้ายหุ้นนั้นง่ายกว่าที่คิดไว้เยอะเลย

    ทำไมถึงเลือกหยวนต้า เพราะหยวนต้า สามารถตั้งซื้อขายล่วงหน้าข้ามวันได้ ไม่ต้องเสียเวลามากดซื้อ-ขาย ใหม่ทุกวัน เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลา ส่วนอีกข้อคือ หยวนต้าไม่มีค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ สำหรับคนซื้อน้อยก็หมดกังวล หรือคนที่ได้ warrant มาในจำนวนไม่มากก็สามารถขายได้โดยไม่ต้องกังวลค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ จึงเหมาะกับหุ้นอีกพอร์ตที่จัดไว้สำหรับลงทุนในระยะสั้นครับ

    ขั้นตอนดำเนินการ
    ในส่วนของวิธีดำเนินการย้าย เราสามารถเข้าไปทำเรื่องที่ศูนย์สาขาได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นสาขาที่เปิดพอร์ต หมดกังวลว่าจะเกรงใจมาร์ด้วยครับ
    หลักทรัพย์กสิกรไทย สาขา เซ็นทรัลลาดพร้าว (แนะนำไม่ควรไป เวลา บ่าย2-3 โมง เพราะเป็นเวลาพักเที่ยงของเจ้าหน้าที่)
    พอไปถึงสาขาก็แจ้งเจ้าหน้าที่ว่ามาย้ายพอร์ตหุ้น เจ้าหน้าจะยื่นใบโอนหุ้นให้กรอก เพียงแค่กรอกบัญชีหุ้นที่จะโอนเข้า ชื่อหุ้นและจำนวนหุ้น แล้วก็เซ็นเอกสาร และมีสำเนาบัตรประชาชนให้เซ็น 1 ใบ ข้อมูลในการกรอกน้อยกว่าที่คิดไว้เยอะมาก
    กรอกเอกสารโอนหุ้น
    ในครั้งนี้ผมลองย้ายหุ้น Richy 100,000 หุ้น ที่ราคา 1.11 บาท ไปหยวนต้า ที่มี Richy อยู่แล้ว 20,000 หุ้นที่ราคา 1.3 บาท 
    ส่วนค่าธรรมเนียมในการย้ายพอร์ตครั้งนี้ ผมจ่ายเพียง 20 บาทเท่านั้น ทางกสิกรคิดค่าธรรมเนียมถูกมาก ๆ เพียงหุ้นละ 20 บาทเท่านั้น ถ้าเทียบกับโบรกอื่นบางที่ หุ้นละ 50 หรือ 100 บาทเลย จากนั้นก็ดำเนินการจ่ายเงิน เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ใช้เวลาจริง ๆ ไม่เกิน 5 นาที
    หลังจากนั้นก็แค่รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาภายใน 2-5 วันทำการ (ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ามีเคสเข้ามามากน้อยแค่ไหน)
    เทียบภาพก่อนย้ายหุ้นข้ามโบรก
    จากนั้น 2 วันถัดมา เจ้าหน้าจากธนาคารกสิกรโทรมาสอบถามข้อมูลเพื่อเช็คความถูกต้อง และช่วงบ่ายก็มีเจ้าหน้าที่โทรมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะเป็นการ confirm ทุกอย่างให้เราบอกราคาทุนตอนที่ซื้อด้วย เพราะตอนย้ายไปจะได้เป็นราคาทุนเดิม หลังจากนั้นประมาณ 1 ชม. ทาง K-cyber ดำเนินการย้ายหุ้นไปทางหยวนต้า 
    หุ้นจะเข้าระบบในวันถัดไป แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละโบรก บางที่ไม่ต้องรอวันถัดไปก็สามารถเทรดต่อได้เลย เท่านี้เราก็ได้หุ้นราคาทุนเดิมในพอร์ตใหม่เรียบร้อยครับ ในตัวอย่างก็เฉลี่ย อยู่ที่ 1.14 บาท
    เทียบภาพทางกสิกรกำลังทำเรื่องย้ายหุ้นเข้าหยวนต้าในวันถัดมา
    และทางกสิกร ก็ส่งรายละเอียดใบโอนหุ้น และใบเสร็จ/ใบกำกับภาษี ให้ ทาง email อีกครั้งเพื่อเป็นหลักฐาน
    ⚠️ หมายเหตุ : ถ้าใครไม่ได้แจ้งราคาทุนตอนย้าย ระบบจะยึดจากราคาตลาด ณ ตอนนั้น พอย้ายมาโบรกใหม่ จะทำให้ราคาทุน ไม่ตรงกับครั้งแรกตอนที่เราซื้อ แต่สำหรับใครที่ลืมแจ้ง ก็สามารถติดต่อแก้ไขข้อมูลกับโบรกใหม่ได้เลย แต่มีข้อแม้สำหรับหยวนต้าว่าต้องไม่ได้ทำการเทรดในตัวหุ้นนั้น ๆ ตั้งแต่ย้ายเข้ามา และที่สำคัญไม่ควรเทรดหุ้นตัวที่กำลังย้าย ในช่วงเวลารอดำเนินการเพราะอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดได้

    บทส่งท้าย

    เป็นไงกันบ้างครับ พอได้อ่านแล้วย้ายหุ้นข้ามพอร์ต ขั้นตอนง่ายกว่าที่คิดใช่ไหมครับ สำหรับใครกำลังวางแผนจัดพอร์ตและหาโบรกเกอร์ที่ตอบโจทย์การเทรดของตัวเองก็สามารถย้ายได้ตามศูนย์สาขา เน้นย้ำนะครับว่าวิธีนี้เหมาะสำหรับคนที่สามารถรอได้ 3-5 วัน และมีหุ้นจำนวนมากไม่อยากเสียค่าธรรมเนียมในการซื้อขายเยอะ
    สำหรับผมเองมีเป้าหมายการลงทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เลยเริ่มสร้างพอร์ตแยกกันตามวัตถุประสงค์ดู เพื่อบริหารให้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ผลตอบแทนที่ดี คือ หุ้น ต่างหากที่จำเป็นต้องลงทุนให้ถูกตัว ดังประโยคที่ใครหลาย ๆ คนเคยได้ยิน “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” ขอให้เพื่อนนักลงทุนทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ 
    สุดท้ายนี้ TRD ขอทิ้งท้ายด้วย Quote ของนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล
    Never invest in a business you cannot understand.
    “อย่าลงทุนในธุรกิจที่คุณไม่เข้าใจมันดีพอ”

    Leave a Comment

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

    Scroll to Top